การจัดประสบการณ์ทางศิลปะสำหรับเด็ก
ถ้าเราเห็นว่ากิจกรรมทางศิลปะมีประโยชน์สำหรับเด็ก แล้วเราควรจะจัดกิจกรรมให้กับพวกเขาอย่างไรดีล่ะ?
ดังที่พอทราบกันว่ากิจกรรมทางศิลปะมีประโยชน์ในการช่วยพัฒนาเด็กในหลายๆ ด้าน การจัดประสบการณ์ทางศิลปะให้กับเด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรส่งเสริมให้เด็กได้แสดงออกทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน การประกอบกิจกรรมทางศิลปะสำหรับเด็กอาจไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน อาจใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนและทำการบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือเป็นกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ปกครองในวันเสาร์อาทิตย์ เมื่อเด็กมีความสนใจที่จะแสดงออกผู้ปกครองไม่ควรขัดขวาง เช่น เด็กเล็กๆ เมื่อจับดินสอได้มักจะขีดเขียนไปทั่ว พื้นบ้าน ฝาผนัง ฯลฯ ผู้ปกครองบางคนที่ไม่เข้าใจอาจดุด่าว่าเด็กทำให้เด็กกลัว คิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด ทางที่ดีควรหาอุปกรณ์ที่เหมาะสม เช่น กระดาษ กระดาน สีเทียน ฯลฯ เพื่อให้เด็กได้มีพื้นที่ในการแสดงออกอย่างอิสระ
วิธีการจัดประสบการณ์ศิลปะสำหรับเด็กควรมุ่งเน้นในการจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนเพื่อส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสสำรวจ ทดลอง ค้นคว้าจากวัสดุนานาชนิด ด้วยวิธีการเรียนแบบแก้ปัญหา แทนการกระทำตามตัวอย่างและการเลียนแบบ เลิศ อานันทะ[1] ได้เสนอวิธีการสอนศิลปะโดยการเปรียบเทียบการสอนแนวเก่ากับแนวใหม่ ดังนี้ วิธีการสอนศิลปะแนวเก่า | วิธีการสอนศิลปะแนวใหม่ |
1. ครูคือศูนย์กลางของห้องเรียนที่เด็กทุกคนในชั้นจะต้องเชื่อฟัง | เด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้โดยส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ภายใต้ระเบียบข้อตกลงร่วมกัน |
2. กำหนดเนื้อหาแน่นอนตายตัว | เนื้อไม่แน่นอน อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความสนใจของผู้เรียน |
3. มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกคนให้เป็นศิลปินหรือช่าง | มีจุดหมายเพื่อจัดเตรียมกำลังคนให้มีคุณภาพโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นช่างศิลป์ เด็กโตขึ้นอาจมีอาชีพอื่นๆ ก็ได้ |
4. วิธีการแสดงออกมุ่งเน้นให้เด็กทำตามตัวอย่างหรือผลงานของผู้อื่นที่ทำสำเร็จแล้ว | ส่งเสริมให้เด็กแสงออกโดยวิธีการแบบแก้ปัญหา จึงไม่นิยมทำตัวอย่างให้เด็กดูทุกครั้ง นอกจากบางกรณีที่จำเป็นครั้งคราว |
5. ยึดถือเอาผลงานเป็นเป้าหมายปลายทางในการเรียนรู้ | ไม่ถือว่าผลงานเป็นสิ่งสำคัญแต่เน้นที่กระบวนการเรียนรู้ เช่น การสร้างเสริมศิลปะนิสัยมีรสนิยมที่ดี ดังนั้นผลงานจึงเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น |
6. มุ่งพัฒนาเด็กเฉพาะอวัยวะบางส่วนเท่านั้น เช่น ความแม่นยำในการใช้ประสาทตาและกล้ามเนื้อนิ้วมือ เป็นต้น | มุ่งพัฒนาเด็กตลอดทั้งชีวิต |
7. วัดและประเมินผลโดยครูเพียงฝ่ายเดียว | วัดและประเมินผลโดยครูและนักเรียนร่วมกัน |
การจัดการศึกษาของเด็กปฐมวัยโดยทั่วไปมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เด็กมีสุขนิสัยที่ดีเกี่ยวกับการกิน เล่น ออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างถูกต้อง ปลูกฝังให้เด็กมีลักษณะนิสัยที่ดีงาม รู้จักควบคุมอารมณ์ของตนและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักใช้ประสาทสัมผัสให้สัมพันธ์กันได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กรู้จักสังเกต มีไหวพริบ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถแสดงออก ชื่นชมต่อความไพเราะและสิ่งสวยงามต่างๆ เห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาดังกล่าว ประสบการณ์ที่ได้จากกิจกรรมศิลปะสามารถตอบสนองได้เป็นอย่างดี
ดีมากคับ....เสริมสร้างจินตนาการ
ตอบลบ