ประเภทของกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็ก
พีรพงศ์ กุลพิศาล[2]ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับประเภทของกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็กว่าเป็นกิจกรรมที่ใช้ความรู้สึกประกอบกับวัสดุและเทคนิควิธีต่างๆ เพื่อผลิตเป็นผลงานออกมา ดังนั้นการจัดประเภทของกิจกรรมทางศิลปะควรแบ่งตามลักษณะของผลงานที่ให้เด็กสร้างสรรค์เป็นหลักได้แก่
1. กิจกรรมศิลปะสองมิติ หมายถึง กิจกรรมทางศิลปะที่มุ่งให้เด็กสร้างสรรค์ภาพบนระนาบวัสดุที่แบนๆ เช่น กระจก กระดาษ ผ้า ผนังปูน ผืนทราย ฯลฯ โดยใช้วิธีการวาดเส้น ระบายสี พิมพ์หรือกดประทับให้เป็นสี ปะติดด้วยกระดาษสี เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมประเภทนี้ได้แก่ การวาดภาพด้วยนิ้วมือหรือมือ การพิมพ์ภาพด้วยเศษวัสดุต่างๆ การวาดภาพด้วยดินสอสี สีเทียน สีโปสเตอร์ เป็นต้น ผลงานศิลปะประเภทนี้ดูแล้วแบนราบมีเฉพาะมิติของความกว้าง - ยาว
2. กิจกรรมศิลปะสามมิติ หมายถึง กิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เด็กสร้างสรรค์ภาพให้มีลักษณะลอยตัว นูน หรือเว้าลงไปในพื้นโดยใช้วัสดุและเทคนิควิธีต่างๆ ที่เหมาะสมกับวัสดุนั้นๆ เช่น การปั้นทราย ดินเหนียว ดินน้ำมัน กระดาษ แป้ง ฯลฯ โดยประกอบวัสดุต่างๆ เข้าด้วยกัน ขั้นตอนการทำงานในการจัดกิจกรรมประเภทนี้ไม่ควรมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ง่ายและไม่เป็นอันตราย โดยวัสดุที่นำมาประกอบนั้นควรเป็นวัสดุประเภทกล่องกระดาษ เมล็ดพืช ลูกปัด เศษไม้ ใบไม้ สามารถใช้กาวติดได้ง่าย เป็นต้น
3. กิจกรรมศิลปะผสมผสานสองมิติ สามมิติ หมายถึง กิจกรรมที่ให้เด็กได้สร้างสรรค์ภาพโดยใช้วัสดุและเทคนิควิธีทางศิลปะทั้งสองมิติและสามมิติรวมกัน เช่น ใช้สีโปสเตอร์ระบายรูปปั้น ดินเหนียวหรือแป้งที่แห้งแล้ว หรือระบายสีตกแต่งกล่อง เป็นต้น
การจัดประสบการณ์ทางศิลปะทั้ง 3 ประเภทควรให้เด็กมีโอกาสร่วมกันทำงานเป็นกลุ่มด้วย กลุ่มละประมาณ 3 - 5 คน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของผลงาน เช่น ให้เขียนภาพผนังด้วยสีเทียนตามเรื่องราวต่างๆ ที่เด็กวัยนี้คุ้นเคย หรือให้ประกอบเศษวัสดุเป็นโครงสร้างต่างๆ ให้ก่อทรายเป็นรูปทรงต่างๆ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น