ตัวอย่างเนื้อหากิจกรรมศิลปะที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย ได้แก่[4]
1. การปูพื้นฐานให้เด็กมองเห็นความสวยงามของศิลปะ กิจกรรมอาจประกอบด้วย
- ฝึกสังเกตรูปทรงต่างๆ
- ให้เด็กสัมผัสและเล่นสิ่งต่างๆ ที่มีรูปทรง สีสัน เหมือนกันและต่างกัน
- เด็กและครูช่วยกันจัดมุมห้องให้สวยงาม เพื่อให้เด็กสังเกตลักษณะของ รูปทรง เส้น สี พื้นผิวของวัสดุต่างๆ ที่เปลี่ยนไป
- ครูหาหรือจัดทำสิ่งประดิษฐ์สำเร็จรูปมาตกแต่งห้อง กระตุ้นให้เด็กรู้สึกอยากรู้อยากเห็นอยู่เสมอ
- เด็กและครูช่วยกันสะสมภาพต่างๆ ที่มีรูปทรง เส้น และสีที่สวยงามเพื่อใช้ตกแต่งห้องเรียน หรือเพื่อให้เด็กฝึกการดูตามใจชอบ
2. การวาดภาพระบายสี
- ให้เด็กฝึกการลากเส้นตามจุดไข่ปลาที่ครูเตรียมไว้ให้เป็นรูปร่างง่ายๆ พยายามให้เส้นต่อเนื่องกัน
- ให้เด็กฝึกการใช้เส้นต่างๆ เส้นตั้ง เส้นนอน เส้นโค้งคลื่น เส้นก้นหอยฯ โดยฝึกวาดในกรอบที่กำหนดไว้ พยายามให้เส้นต่อเนื่องกัน
- วาดภาพระบายสีด้วยการใช้เส้นประเภทต่างๆ
- ให้เด็กวาดภาพบนกระดาษ กระดาน กระบะทราย หรือวัสดุที่ต่างออกไปจากที่เคยวาดในชีวิตประจำวัน ให้เด็กสังเกตผลที่ได้จากการวาด
- ขณะที่เด็กกำลังวาดอาจเปิดเพลงที่เด็กชอบเพื่อสร้างบรรยากาศ
- ครูกำหนดรูปทรงง่ายๆ บนกระดาษให้เด็กต่อเติมและระบายสีโดยอิสระ
- เมื่อวาดเสร็จให้เด็กตั้งชื่อผลงานและเล่าเรื่องประกอบภาพวาด
3. การทดลองเกี่ยวกับสี
- แนะนำสีชนิดต่างๆ อย่างง่ายๆ เช่น สีเทียน สีไม้ สีโปสเตอร์ และให้เด็กได้ทดลองใช้ โดยสีโปสเตอร์ครูผู้สอนต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
- ให้ละเลงสีสีเดียวบนกระดาษขนาดใหญ่โดยใช้อวัยวะได้ไม่จำกัด เช่น ฝ่ามือ เท้า ท่อนแขนฯ และเล่าเรื่องจากผลงานที่เสร็จแล้ว
- ให้ทดลองหยดสีโปสเตอร์ทีละหยด โดยเริ่มจากการใช้ สี จำนวน 1 สี 2 สี ผสมกันให้เด็กฝึกสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของสี
- ให้เด็กทดลองเป่าสีเข้าหากันหลายๆ สี ฝึกสังเกตสีที่ผสมกัน
- นำกระดาษเนื้อบาง เช่น กระดาษสามาตัดให้เป็นสี่เหลี่ยมพับทบไปมา จุ่มปลายด้านหนึ่งลงกับสีสีหนึ่ง และนำมาจุ่มซ้ำกับสีอื่นๆ ให้เด็กฝึกสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลง
- หยดสีน้ำมันลงในอ่างน้ำดูการเคลื่อนที่และการผสมกันของสี
- นำกล่องรองเท้ามาใส่ลูกแก้วกลมที่ทาสีแล้วหลายๆ สี ปล่อยลูกแก้วให้กลิ้งไปมาในกล่องรองเท้า ให้เด็กฝึกสังเกตสีที่ทับกันไปมา
- ทดลองผสมแม่สีทั้ง 3 สีให้เด็กดู
4. การทำภาพพิมพ์
- ให้เด็กฝึกสังเกตสิ่งที่นำมาใช้เป็นแม่พิมพ์ เช่น ใบไม้ วัสดุที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน
- ให้เด็กพิมพ์ภาพด้วยสีและวัสดุต่างชนิดกัน
- ให้เด็กทดลองใช้อวัยวะของตนเองในการเป็นแม่พิมพ์ เช่น นิ้วมือ กำปั้น ฯลฯ
- นำภาพพิมพ์ที่เด็กทำเสร็จแล้วไปตากให้แห้งและให้เด็กต่อเติมภาพตามจินตนาการ
5. การปั้น
- นำวัสดุที่ใช้ในการปั้น เช่น ดินน้ำมัน ดินเหนียว ฯลฯ ให้เด็กสัมผัส บีบ นวด
- ปั้นรูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ นำมาประกอบกันเป็นรูปร่างอื่นๆ เช่น หมู ทีวีฯ
- ให้เด็กปั้นรูปทรงอิสระตามจินตนาการ และเล่าเรื่องให้สอดคล้อง
- นำวัสดุที่ใช้ปั้นมาแผ่ให้เป็นแผ่นเรียบ นำวัสดุชนิดอื่นมากดทับให้เกิดเป็นรอย เช่น เหรียญบาท กุญแจฯ
6. การพับ ฉีก ปะ
- ให้เด็กๆ พับกระดาษเป็นรูปทรงง่ายๆ ตามที่ครูบอก
- ให้เด็กพับหรือม้วนกระดาษ หรือฉีกเศษผ้าให้เป็นแถบยาว นำมาขยุ้มหรือต่อเป็นรูปทรงและภาพต่างๆ
- ให้เด็กฉีกกระดาษเป็นรูปร่างรูปทรงง่ายๆ นำมาปะติดลงบนวัสดุอื่นหรือรูปภาพอื่นตามใจชอบ แล้วให้เด็กเล่าความหมายของภาพนั้น
- ครูเตรียมตัดรูปอวัยวะบนใบหน้าจากทั้งของคนและสัตว์จากนิตยสารต่างๆ แล้วให้เด็กเลือกไปปะติดบนใบหน้าอื่นๆ
7. การประดิษฐ์
- ให้เตรียมสิ่งของเหลือใช้มาจากบ้าน สาธิตสมมติการใช้สิ่งของนั้นๆ หน้าชั้นเรียน
- นำสิ่งของมาประกอบกันตามจินตนาการ เน้นให้ใช้วัสดุทุกอย่างเท่าที่มีและประกอบให้เป็นรูปทรงที่หลากหลายมากที่สุด
- ฝึกเด็กให้ใช้สิ่งของร่วมกันและทำงานเป็นกลุ่ม
ตัวอย่างกิจกรรมดังกล่าวเป็นแนวทางในการนำเสนอการจัดประสบการณ์ทางศิลปะให้กับเด็กปฐมวัย โดยการออกแบบกิจกรรมต้องคำนึงถึงการที่เด็กจะได้เป็นผู้ริเริ่มในการทำงาน มีอิสระที่จะจินตนาการถึงสิ่งใดก็ได้ ทั้งนี้การจัดประสบการณ์ทางศิลปะให้กับเด็กปฐมวัยตอนต้น ไม่ควรแยกตัวกิจกรรมออกมาอย่างเด่นชัด แต่ควรให้เด็กเลือกทำเองตามความสนใจเฉพาะตนหรือเฉพาะกลุ่ม จึงจำเป็น ต้องมีครูพี่เลี้ยงหลายๆ คนคอยช่วยดูแล สำหรับเด็กปฐมวัยตอนปลายที่มีอายุระหว่าง 5 - 6 ปี ควรจัดกิจกรรมทางศิลปะแยกออกมาเด่นชัดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง กล่าวคือครูควรมีการจัดชั่วโมงศิลปะให้กับเด็กบ้างอย่างมีกระบวนการและจุดหมายที่ชัดเจนว่าต้องการให้เด็กมีความรู้อะไร หรือมีประสบการณ์ทางศิลปะอย่างไร กิจกรรมไม่ควรยากจนเกินไปเพราะเมื่อเด็กได้พยายามอย่างเต็มความสามารถแล้วงานยังไม่สำเร็จจะทำให้เด็กรู้สึกท้อแท้และเบื่อหน่ายในกิจกรรมต่อๆ ไป
การจัดประสบการณ์ทางศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัยตอนปลายควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้[5]
1. ผู้สอนควรวางแผนล่วงหน้าตลอดเทอมว่าแต่ละสัปดาห์จะให้เด็กทำกิจกรรมอะไร ตาม ลำดับความยากง่ายและความซับซ้อนของชิ้นงาน
2. จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ สภาพห้องเรียนและวิธีสอนให้สอดคล้องกับแผนที่วางไว้
3. ระหว่างที่ให้เด็กทำกิจกรรม ควรระลึกอยู่เสมอว่ากิจกรรมที่จัดนั้นเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ประสบการณ์ตรงจากสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียนเพียงพอหรือไม่ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ให้เด็กต้องทำแล้วผลงานออกมาเหมือนกันทั้งห้อง เพราะการสร้างงานศิลปะคือการแสดงออกของการรับรู้เฉพาะตน โปรดจำไว้ว่าพฤติกรรมการทำงานศิลปะของเด็กแต่ละคนต่างกัน บางคนชอบนั่งทำงานที่โต๊ะ บางคนขอบนอนกับพื้น บางคนชอบนั่งทำงานนอกห้องเรียน ครูผู้สอนควรให้อิสระอย่างเต็มที่เพราะถ้าเด็กเพลินเพลินและมีสมาธิกับการทำงานจะส่งผลให้เกิดพัฒนาการในทุกๆ ด้าน นอกจากนี้ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกทำงานเป็นกลุ่ม และร่วมประเมินผลงานหรือแสดงความคิดเห็นผลงานของเพื่อร่วมชั้นเรียนด้วย
4. ให้ผู้ปกครองมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างประสบการณ์ทางศิลปะขณะที่เด็กอยู่ที่บ้านด้วยเช่น มีการกำหนดเรื่องล่วงหน้าแต่ละสัปดาห์ว่าจะมีกิจกรรมเรื่องใด วัสดุอุปกรณ์และวิธีการทำงานเป็นอย่างไรฯ การเตรียมการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากรู้อยากเห็น เกิดจินตนาการและสร้างผลงานได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
5. มีความเมตตาและหวังดีต่อเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยการแสดงความรักและความห่วงใยอยู่เสมอ พยายามใช้คำพูดกระตุ้นจินตนาการของเด็กระหว่างการทำงานเสมอ
จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าการจัดประสบการณ์ทางศิลปะให้กับเด็กปฐมวัยไม่ใช่เรื่องยาก แต่ผู้สอนต้องเข้าใจถึงพัฒนาการและความพร้อมของเด็ก โดยยอมรับว่าเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาไม่เท่ากัน กิจกรรมศิลปะที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากการสัมผัส การปฏิบัติและการสร้างสรรค์จะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นในทุกด้าน ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่าผลของการจัดประสบการณ์ทางศิลปะมิได้ประเมินที่ตัวศิลปะว่าสวยงามตามการรับรู้ของผู้ใหญ่หรือไม่ หากประเมินด้วยรอยยิ้มอันเกิดจากความสุขที่ได้แสดงออกในงานศิลปะต่างหาก
คิดถึงสมัยยังเป็นเด็กๆเลยทีเดียว
ตอบลบปั่นดินน้ำมัน ระบายสี ^^