วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การจัดประสบการณ์ทางศิลปะให้กับเด็กปฐมวัย

การจัดประสบการณ์ทางศิลปะให้กับเด็กปฐมวัย
การจัดกิจกรรมทางศิลปะให้กับเด็กปฐมวัย ควรตั้งจุดประสงค์ในการเรียนรู้ให้กับเด็กโดยให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก จากนั้นจึงเป็นการกำหนดเนื้อหาและวางแผนกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาทักษะเด็กในด้านต่างๆ แม้ว่าจะมีการเตรียมการในขั้นตอนนี้อย่างดี แต่เด็กก็ยังเป็นเด็กที่มักมีนิสัยซุกซนอยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัว การสร้างแรงจูงใจให้อยากเข้าร่วมกิจกรรมจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้[3] เช่น อาจเป็นการเล่านิทานให้ฟัง ฉายภาพยนตร์ให้ดู เปิดเพลงให้ฟัง พาไปดูของจริง การให้เด็กได้ใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ ฯลฯ ล้วนเป็นวิธีการที่เราต้องนำมาใช้ทั้งสิ้น สิ่งเร้าหรือสื่อต่างๆ นี้มีส่วนช่วยให้เด็กได้พัฒนาทางด้านความคิดรวบยอดในแต่ละเรื่องเพื่อนำไปควบคุมเส้นที่ขีดเขี่ยออก บางเรื่องจำเป็นต้องให้ประสบการณ์ตรงกับเด็กเพื่อสร้างความเข้าใจโดยไม่ต้องมีคำอธิบายมากมาย เช่น เรื่องของสุนัข กระต่าย แมลง ยานพาหนะ ฯลฯ การให้เด็กได้เห็นของจริงและเปิดโอกาสให้เด็กพินิจพิเคราะห์อย่าละเอียดถี่ถ้วน สัมผัสสิ่งนั้นด้วยมือ ฟังเสียงจริงๆ ดมกลิ่นจริง ประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยพัฒนาความคิดรวบยอดของเด็กที่มีต่อสิ่งต่างๆ ได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น แต่ต้องคำนึงว่าเด็กเล็กในวัยนี้จะเรียนรู้ได้มากจากสิ่งของทีละอย่างซึ่งแตกต่างจากเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่สามารถรวบรวมความคิดจากสิ่งของหลายๆ สิ่งได้ในเวลาเดียวกัน ถ้ามีสิ่งที่ต้องเรียนรู้มากมายในเวลาเดียว เด็กจะเกิดความท้อใจ สับสน
ในกรณีที่เด็กไม่รู้จะวาดรูปอะไรดี ผู้สอนต้องทำหน้าที่เป็นตัวเร้า วิธีที่นิยมใช้คือการแนะนำหัวข้อให้วาด เช่น สุนัขของฉัน, ครูของฉัน, บ้านของฉัน, คุณแม่ทำอาหาร, พระจันทร์เต็มดวง, รถของคุณพ่อ, ของเล่นของฉัน, เพื่อนที่โรงเรียน, พระจันทร์เต็มดวง, ปลาในตู้กระจก ฯลฯ
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สร้างงานศิลปะก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เมื่อเด็กได้เห็นวัสดุอุปกรณ์ที่แตกต่างออกไป ทำให้เขาอยากหยิบจับขึ้นสัมผัส ทดลองใช้และเริ่มคิดหัวข้อในการสร้างงานศิลปะ
การเตรียมห้องเรียนศิลปะก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ห้องเรียนที่ดีควรมีโต๊ะเก้าอี้ที่ได้สัดส่วนเหมาะสมกับขนาดร่างกายของเด็กและสามารถเคลื่อนย้ายได้ตลอด เนื่องจากบางกิจกรรมอาจจำเป็นต้องใช้โต๊ะมาต่อกันเพื่อให้ได้พื้นที่กว้างหรืออาจเป็นการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน จำนวนของโต๊ะเก้าอี้ควรเพียงพอกับจำนวนเด็ก โต๊ะที่ใช้ปฏิบัติงานควรลบมุมให้เรียบร้อย พื้นโต๊ะควรทำจากวัสดุคงทน เช่น โฟไมก้า หรือแผ่นโลหะเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด ในห้องเรียนควรมีตู้เก็บอุปกรณ์หรือสื่อการสอนศิลปะโดยเฉพาะ มีที่ตากผลงานเมื่อยังไม่แห้ง และที่ติดตั้งแสดงผลงานที่ควรได้รับการชื่นชม อ่างล้างมือสำหรับทำความสะอาด สบู่ ผ้าเช็ดมือ ถังขยะ ฯลฯ กระดานไม้ขนาดเล็กสำหรับเด็กรองเขียนหรือเป็นฐานของงานปั้น สุดท้ายคือผ้าคลุมกันเปื้อน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ ต้องพะวงกับการรักษาความสะอาดจนขาดสมาธิในการทำงาน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น